ลูกสาว (หนูจำไม) :แม่คะ ทำไมคุณพ่อถึงนอนโรงพยาบาลละคะ ?
แม่ : คุณพ่อหนูเค้ามีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (hyponatremia) จ้า...
แม่ : เดี๋ยว แม่เล่าให้ฟังนะจ๊ะ...
แม่ : ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (hyponatremia) เป็นภาวะที่มีความเข้มข้นของโซเดียมในเลือดน้อยกว่า 136 mEq/L (ปกติ จะมีค่าอยู่ระหว่าง 136-145 mEq/L หรือ mmol/L) แต่จะจัดว่าเป็นอันตรายเมื่อมีค่าต่ำกว่า 125 mEq/L
ลูกสาว (หนูจำไม) : แล้วภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ เกิดจากสาเหตุอะไรคะ
แม่ : สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำมีหลายอย่างจ้า
ลูกสาว (หนูจำไม) : ยังไงหรือคะ
แม่ : อย่างแรก ในร่างกายมีโซเดียมและน้ำเพิ่มขึ้น แต่มีการเพิ่มขึ้นของน้ำมากกว่า จนเกิดความเจือจาง ซึ่งจะพบได้ในผู้ป่วยเช่น ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) , ตับแข็ง (cirrhosis), ไตวาย เป็นต้น
อย่างที่ 2 ในร่างกายขาดโซเดียมจริง ซึ่งจะพบได้ในผู้ที่มีอาการอาเจียน ท้องเสีย มีภาวะเสียเลือด ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกรุนแรง ตับอ่อนอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (peritonitis) ไตวาย เป็นต้น
อย่างที่ 3 ในร่างกายมีระดับโซเดียมปกติ แต่น้ำในร่างกายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะพบได้ในผู้ป่วย เช่น ผู้ที่ขาดสเตียรอยด์ในร่างกาย ภาวะไทรอยด์ต่ำ (hypothyroidism) ภาวะ SIADH ซึ่งเป็นภาวะที่มีการหลั่ง ADH มาตลอดเวลา ทำให้มีการดูดน้ำกลับของหน่วยไตและน้ำกลับเข้าสู่เลือดมากขึ้น
ลูกสาว (หนูจำไม) : แล้วมีอาการยังไงหรือคะ
แม่ : จะรู้สึกเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อ่อนล้า ปวดหัว สับสน คลื่นไส้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว บางรายอาจซึม ชัก หมดสติได้
ลูกสาว (หนูจำไม) : เห็นมีสาเหตุเยอะไปหมด แล้วที่คุณพ่อเป็นเกิดจากอะไรหรือคะ
แม่ : อ๋อ คุณพ่อมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง ชอบปวดขาบ่อย ๆ และมักปวดหัวไมเกรนเป็นประจำ และเป็นโรคชักด้วย ทำให้ต้องกินยาหลายอย่าง แล้วยาแต่ละอย่างทำให้เกิดภาวะ SIADH จ้า
ลูกสาว (หนูจำไม) : ยาอะไรหรือคะ
แม่ : ยากันชัก Carbamazepine (คาร์บามาซีพีน)
ยาขับปัสสาวะ/ลดความดันโลหิต Hydrochlorothiazide, HCTZ (ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ )
ยาลดความดันโลหิต Enalapril (อีนาราพริล) กลุ่มยา ACEIs
ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs คุณพ่อมักใช้ diclofenac (ไดโคลฟีแนค) เป็นประจำ
ยาป้องกันอาการปวดไมเกรนบ่อย ๆ คุณพ่อใช้ amitriptyline (อะมิทริปไทลีน)
ลูกสาว (หนูจำไม) : คุณพ่อทานยาเยอะจริง ๆ เลยค่ะ ต่อไป หนูจะช่วยคุณแม่ดูแลเรื่องยาคุณพ่อนะคะ คุณแม่จะได้ไม่เหนื่อย
แม่ : ดีจ้า น่ารักจังลูกแม่
ลูกสาว (หนูจำไม) : แล้วคุณพ่อจะหายไหมคะ
แม่ : หายซิจ๊ะ แพทย์เค้ามีวิธีการรักษาจ้า อย่างเช่น ถ้าในรายที่เกิดจากขาดเกลือโซเดียมจริง ก็ต้องมีการให้เกลือทดแทนเข้าไปในร่างกาย และแก้ไขที่สาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดเกลือ เช่น ให้ยาต้านอาเจียน ส่วนกรณีคุณพ่อ คุณหมอแนะนำให้จำกัดน้ำ ให้ยาขับปัสสาวะพวก furosemide (ฟูโรซีไมด์) และยาอะไรไม่รู้ ขึ้นต้นด้วยตัว De...และหยุดยาที่เป็นสาเหตุและแม่เห็นคุณพ่อได้รับน้ำเกลือบางชนิดด้วยนะ
ลูกสาว (หนูจำไม) : คุณแม่เก่งจังค่ะ จำได้งัยคะเนี่ย
แม่ : ก็แม่ทานอาหารที่มี DHA(ดี เอช เอ) พวกปลาทู ปลาช่อน ปลาหมึกกล้วย ปลาสวาย บำรุงสมองนี่จ๊ะ 555
อืม...แต่แม่รักษาคุณพ่อเองไม่ได้นะคะ เพราะแม่ไม่ใช่คุณหมอ ทางที่ดีหากใครป่วยเป็นภาวะนี้ ควรพาไปพบแพทย์นะจ๊ะ
ลูกสาว (หนูจำไม) : ค่ะ คุณแม่ (ลูกสาวทำหน้ายิ้ม)
แม่ : งั้นเรารีบไปหาคุณพ่อดีกว่าเนอะ ไม่รู้ว่าคุณหมอให้ออกจากโรงพยาบาลได้หรือยัง จะได้พาคุณพ่อมาดูแลที่บ้านกันนะคะ ป่ะ ไปกัน....
ปล.จากคุณแม่ ค่ะ : คุณแม่บอกว่าอย่าเชื่อคุณแม่ทั้งหมด คุณแม่บอกว่า หากหนูหรือใครสนใจข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่
1. หนังสือการแปลผลห้องปฏิบัติการสำหรับเภสัชกร โดย สุธาทิพย์ พิชญไพบูลย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2542
2.hamoor.com
3.ergoldbook.blogspot.com
4.http://www.aafp.org/afp/2000/0615/p3623.html
5.http://www.druginformation.co.nz/Bulletins/DrugInducedHyponatraemia.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น